ไทยมีวัฒนธรรมประเพณีและแนวทางปฏิบัติอันยาวนาน ที่มีการพัฒนามาเป็นเวลาหลายพันปี วัฒนธรรมไทยบางอย่างอาจเลื่อนหายไปตามกาลเวลา วัฒนธรรมบางอย่างอาจถูกปรับเปลี่ยนไปบ้างตามความเป็นไปของยุคสมัย แต่ยังคงมีวัฒนธรรมอีกหลายอย่างที่ยังคงอยู่และเป็นเอกลักษณ์บ่งบอกความเป็นไทยที่ไม่เหมือนใคร ดังนี้ 

การไหว้ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การทักทายแบบไทยเท่านั้น แต่การไหว้ ยังเป็นการไหว้เพื่อขอบคุณ การไหว้เพื่อทำความเคารพ หรือไหว้เมื่อจากลากัน การไหว้ที่ถูกต้องของไทย มีหลักปฏิบัติของการไหว้อยู่ 3 ระดับ โดยการไหว้ในแต่ละระดับนั้น จะมีท่าทางของการไหว้ที่ต่างกันเล็กน้อย ดังนี้ 

  • ระดับที่ 1 การไหว้พระ การไหว้พระนั้น จะไหว้โดยการประนมมือขึ้นให้นิ้วหัวแม่มือจรดที่กลางระหว่างคิ้ว นิ้วชี้แตะที่เหนือหน้าผาก ก้มศีรษะให้หน้าขนานกับพื้น ค้อมหลังพอประมาณ 
  • ระดับที่ 2 การไหว้ผู้มีพระคุณและผู้อาวุโส โดยประนมมือขึ้นเช่นเดียวกับการไหว้พระ แต่นิ้วหัวแม่มือจรดปลายจมูก นิ้วชี้จดระหว่างคิ้ว  ค้อมหลังพอประมาณ ก้มศีรษะลงเล็กน้อย  
  • ระดับที่ 3 การไหว้บุคคลทั่วไปและผู้เสมอกัน ให้ประนมมือขึ้น ก้มศีรษะเล็กน้อย หัวแม่มือจรดที่ปลายคาง นิ้วชี้แตะที่จมูก ค้อมหลังพอประมาณ 

การบวชสามเณรภาคฤดูร้อน เป็นการปฏิบัติที่มีมานานในไทย ผู้ที่จะบวชเป็นสามเณร คือเด็กผู้ชายอายุระหว่าง 10 ถึง 20 ปี และจะบวชในระยะเวลาที่จำกัด คือ 15 วัน โดยปกติจะเป็นช่วงปิดภาคฤดูร้อน มุ่งหวังให้เด็กไทยใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ในช่วงปิดเทอมและได้เรียนรู้พระพุทธศาสนา เรียนรู้ธรรมะได้ข้อคิด คติธรรมเตือนใจ ฝึกความอดทนและระเบียบวินัย เช่น การสวดมนต์ การทานอาหารซึ่งจะทานได้แค่ 2 มื้อเท่านั้น คือมื้อเช้าและมื้อกลางวัน การบวชเป็นสามเณรในมุมมองของชาวไทยพุทธ เป็นการฝึกเด็กในทิศทางที่ดี ทำให้เด็กใกล้ชิดกับศาสนา และจะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปปรับใช้ในชีวิตต่อไป

ผ้าไหมไทย คือมรดกทางวัฒนธรรมสิ่งทอของไทยที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ผ้าไหมเป็นศิลปกรรมสิ่งทอที่มีความประณีตในวิธีการผลิต ทำให้เนื้อผ้ามีความสวยงามเป็นมันเงา นุ่ม น่าสัมผัส ผ้าไหมไทยมีลวดลายหลากหลาย ซึ่งเกิดจากวิธีการทอ ลวดลายส่วนใหญ่ มักเป็นลวดลายที่ได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า ผ้าไหมมีมานานกว่า 3,000 ปี จากการพบเศษผ้าที่ติดอยู่กับกำไลสำริดของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่บ้านเชียงและบ้านนาดี อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี  

คราวนี้เราก็รู้แล้วว่าวัฒนธรรมของเราต่างจากต่างชาติอย่างไร